วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข่าวคอมพิวเตอร์




อวดไมโครชิพกินไฟน้อยที่สุดในโลก
ขนาดเพียง 1มม. แบตนาฬิกาก้อนเดียวอยู่ได้ 200 ปี คาดช่วยย่อส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เล็กลง
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สก็อต แฮนสัน นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ออกแบบไมโครชิพที่กินไฟน้อยลง 10% เมื่อเทียบกับชิพที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และเมื่ออยู่ในสถานะ “สลีฟโหมด” จิบกระแสไฟน้อยลง 3 หมื่นเท่า
ชิพดังกล่าวกินกระแสไฟเพียง 30 พิกโควัตต์ในช่วง “พักการทำงาน” หรือสลีฟโหมด (1 พิกโควัตต์เท่ากับเศษหนึ่งส่วนล้านล้านวัตต์) หรือถ้าเป็นแบตเตอรี่ก้อนจิ๋วของนาฬิกา 1 ก้อนสามารถใช้กับซีพียูที่นักศึกษารายนี้คิดค้นได้นาน 263 ปี
เขาตั้งชื่อซีพียูของเขาว่า ฟีนิกซ์ โปรเซสเซอร์ เป็นซีพียูที่กินไฟน้อยที่สุดในโลก ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ทางการแพทย์ที่ใช้ฝังไว้ในร่างกาย หรือใช้ตรวจจับสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ตรวจตราความปลอดภัย
ซีพียูฟีนิกซ์มีขนาดหนึ่งตารางมิลลิเมตร อาจฟังดูว่าเล็กมาก แต่เป็นเรื่องปกติของชิพที่ใช้กับเซ็นเซอร์ และอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ บางตัวมีขนาดเล็กกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ชิพฟีนิกซ์มีขนาดบางเท่ากับแบตเตอรี่ชนิดแผ่นฟิล์ม และนี่เองคือหัวใจของความสำเร็จ
โดยทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่จะมีขนาดใหญ่กว่าซีพียูมาก ทำให้ขนาดของอุปกรณ์และต้นทุนผลิตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่าง แบตเตอรี่สำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมีขนาดใหญ่กว่าซีพียูถึง 5,000 เท่า และยังใช้งานได้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
หากผลิตซีพียูที่กินไฟน้อยลงขนาดแบตเตอรี่ก็เล็กลงด้วย ช่วยให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง สำหรับระบบเซ็นเซอร์ชิพของทีมนักศึกษารวมแบตเตอรี่แล้วมีขนาดเล็กกว่า 1,000 เท่าเทียบกับระบบเซ็นเซอร์ที่คุยว่าเล็กที่สุด และเปิดพรมแดนใหม่ให้แก่อุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนทดสอบใช้ชิพฟีนิกซ์กับเซ็นเซอร์ฝังร่างกายเพื่อตรวจจับแรงดันในลูกตาของผู้ป่วยโรคต้อหิน อนาคตชิพลักษณะนี้จะนำไปใช้สร้างเครือข่ายตรวจสภาพอากาศและน้ำ หรือติดตามการเคลื่อนที่ รวมถึงฝังในคอนกรีตติดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ด้านการแพทย์สามารถนำไปใช้กับเครื่องปรับจังหวะเต้นของหัวใจที่อ่านข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ละเอียดยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: